หากพูดถึงความเป็นไทยในอดีตแล้วมีสิ่งที่มีคุณค่าอยู่มากมายมหาศาล ทั้งด้านภูมิประเทศที่เหมาะกับการทำมาหากินจนได้ชื่อว่าเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำของโลก” มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติ มีวิถีชีวิตและมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมอันหาประเทศใดเทียบมิได้ ประเทศไทยในอดีตจึงเป็น “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” ให้กับคนในชาติได้อยู่อย่างมีความสุข แต่เมื่อถึงโลกยุคการสื่อสารไร้พรมแดน วัฒนธรรมต่างชาติและเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต แต่การพัฒนาคนในชาติให้มีความพร้อมรับกับวิวัฒนาการดังกล่าวได้อย่างมีวิจารณญาณนั้น เกิดขึ้นได้น้อยมาก ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าสู่โลกยุคใหม่อย่างหลงทางจนเกิดค่านิยมผิดเพี้ยนจากความเป็นไทยที่ดีงามไป โดยเห็นความร่ำรวยเงินทองและวัตถุมีค่ามากกว่าการร่ำรวยด้านจิตใจและชีวิตที่มีความสุข เมื่อค่านิยมเป็นไปเช่นนี้ การแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบเห็นประโยชน์แก่ตนเอง รวมถึงการละทิ้งครอบครัว ถิ่นฐานไปแออัดทำมาหากินในเมืองใหญ่จึงเกิดขึ้น เวลาของชีวิตส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการแข่งขันสร้างฐานะทำให้ชีวิตขาดความสุข เกิดความตกต่ำทางด้านจิตใจ ด้วยพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อ วัตถุนิยม พฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของไทย ชอบเป็นผู้รับมากกว่าเป็นผู้ให้ หรือแม้แต่การพัฒนาด้วยการศึกษาก็ยังหวังแค่ปริญญาแต่ไม่มีทักษะการทำงาน ขาดทักษะชีวิต จึงขาดเกราะที่จะทำให้วิถีชีวิตปลอดภัยจากสิ่งรอบข้าง วิถีชีวิตที่จะทำให้มีความสุขที่แท้จริงจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น สังคมและประเทศชาติก็พลอยเกิดปัญหาตามมามากมาย
จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะต้องให้ความสำคัญกับการนำค่านิยมที่ดีงามให้กลับคืนมาสู่ความเป็นไทยอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากแต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้เอาเสียเลย เพียงแต่ขอให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้คนในชาติ มองเห็นคุณค่าสิ่งที่ดีงามของไทยที่มีอยู่แล้วนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสุขของชีวิตให้ถึงแก่นแท้เช่นในอดีตที่ผ่านมาได้บ้าง ก็เชื่อว่าการพลิกฟื้นค่านิยมไทยให้กลับคืนมาก็น่าจะไปถึงฝันได้ไม่ยาก ที่ว่าเช่นนี้ก็ด้วยเห็นตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นบ้างแล้วจากการดำเนินงานของ “วิทยาลัยชุมชน”(วชช.) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่าย ภาคี และผู้นำท้องถิ่นพัฒนาชุมชนจนเกิดความเข้มแข็งสามารถยืนอยู่ด้วยตนเองได้ โดยการนำจุดเด่นของท้องถิ่นที่มีอยู่ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ใช้เป็นศูนย์รวมจิตใจของการพัฒนา ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจจนเกิดจิตสำนึกเห็นคุณค่าในเอกลักษณ์อันดีงามของท้องถิ่น และใช้จุดเด่นที่ว่านี้พัฒนาด้านสัมมาอาชีพให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย จากการพัฒนาตามแนวทางที่ว่านี้ วิทยาลัยชุมชน ได้ดำเนินการจนเกิดผลเป็นรูปธรรมไปแล้วในหลายพื้นที่ที่มีวิทยาลัยชุมชนอยู่ ในครั้งนี้จึงจะขอนำมาเสนอให้เห็นเป็นเพียงบางพื้นที่ ดังนี้
ชุมชนชายขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์งดงามของธรรมชาติ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตามวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่ถึง 11 เผ่า กลายเป็นแหล่งดึงดูดผู้คนทั้งในและต่างประเทศให้ไปท่องเที่ยวชมความงดงามและคุณค่าที่มีอยู่ตลอดทั้งปี แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรายได้ส่วนใหญ่จะไปตกอยู่กับนักธุรกิจต่างถิ่น ส่วนคนในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าดูแลธรรมชาติและเป็นเจ้าของวัฒนธรรมจะได้รับประโยชน์น้อยมาก และยิ่งเกิดธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่มากขึ้นสิ่งปลูกสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติก็เกิดขึ้นตามมา ทำให้ความเป็นธรรมชาติรวมถึงวิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไป เกิดค่านิยมใหม่ ๆ ตามมา วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างทั้งองค์ความรู้ ให้เกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่าในสิ่งที่ท้องถิ่นมีอยู่พร้อมส่งเสริมเติมเต็มในทักษะอาชีพจนเกิดมูลค่าเพิ่ม จากการให้ความรู้และพาทำ ด้วยการสร้างมัคคุเทศก์น้อย การวางแผนจัดการท่องเที่ยว ให้ความรู้ด้านการตลาด การคิดคำนวณหาต้นทุน กำไร พร้อมพัฒนารูปแบบการนำเสนอในวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมการแสดง การจัดโฮมสเตย์ และศูนย์ท่องเที่ยวของชุมชน ทำให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับการซึมซับคุณค่าทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชนแต่ละเผ่าถึงแก่นแท้ ทำให้อยากจะหวนกลับมาท่องเที่ยวอีก ส่วนนี้คนในพื้นที่เองก็ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรง คือ เกิดอาชีพที่สามารถสร้างรายได้มากขึ้นและทางอ้อมทำให้ลูกหลานเกิดความตระหนักเห็นคุณค่าพร้อมที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าของตนเองให้ธำรงอยู่อย่างยั่งยืน ส่วนชุมชนก็มีความเข้มแข็งเกิดขึ้นตามมาหรือกรณีของวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ที่ได้เข้าไปร่วมพลิกฟื้นวิถีชีวิตของชนเผ่าย้อและเผ่ากะเลิง ที่กำลังถูกสังคมยุคใหม่กลืนหายไป ด้วยปัจจุบันมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ครอบครัว ซึ่งชนเผ่าทั้งสองนี้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย มีวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เด่นเฉพาะ อาทิ ชนเผ่าย้อ จะใช้ข้อง เป็นเครื่องมือเสี่ยงทายเพื่อหาสิ่งที่สูญหาย ชนเผ่ากะเลิง ใช้วิธีฟ้อนผีหมอ รักษาโรค เป็นต้น ซึ่งวิถีชีวิตและความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนานนี้ เมื่อถึงปัจจุบันแม้แต่ลูกหลานของชนเผ่าย้อและเผ่ากะเลิง ก็แทบไม่รู้วัฒนธรรมของตนเองไปแล้ว เมื่อวิทยาลัยชุมชนมุกดาหารร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้าไปสร้างความตระหนักส่งเสริมเติมเต็มในทุกด้านให้แล้ว ชนเผ่าดังกล่าวสามารถนำเอกลักษณ์โดดเด่นที่มีมาดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและบูรณาการวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองให้เกิดเป็นอาชีพ โดยจังหวัดมุกดาหารได้จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดแห่งหนึ่งด้วย ทำให้ชนเผ่าทั้งสองมีรายได้จากการแสดงออกทางวัฒนธรรม และค้าขายของที่ระลึก สามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นอย่างมีความสุขตัวอย่างของ “ชุมชนชายฝั่งตันหยงเปาว์” จังหวัดปัตตานี ที่ได้อาศัยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลทำอาชีพประมงมาตั้งแต่อดีต ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลทำให้ผู้คนในท้องถิ่น ครอบครัว สังคมอยู่กันอย่างมีความสุขสมานฉันท์ แต่เมื่อเกิดธุรกิจประมงขนาดใหญ่โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศวิทยา ทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง การประมงของคนในพื้นที่จึงมีความยากลำบากมากขึ้น ปริมาณรายได้ลดน้อยลงไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและไม่พอเพียงกับการดำเนินชีวิต วิทยาลัยชุมชนจังหวัดปัตตานี จึงร่วมกับทุกภาคส่วนและผู้นำชุมชนร่วมปลูกฝัง สร้างความตระหนักให้เห็นคุณค่าทรัพยากรที่มีอยู่ จนเกิดการรวมกลุ่มเพื่อเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลของชุมชน พร้อมทั้งร่วมฟื้นฟูให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาด้วยการจัดทำปะการังเทียม ขยายพันธุ์สัตว์ทางทะเลให้มีจำนวนมากขึ้น สร้างข้อตกลงร่วมกันด้วยการห้ามจับสัตว์ทะเลที่ยังไม่ได้ขนาดหรือห้ามจับฤดูวางไข่ พร้อมปล่อยพันธุ์ปลาลงทะเลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดให้กับประชาชน ทำให้ทุกวันนี้ชุมชนชายฝั่งตันหยงเปาว์ กลับมามีความสมบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพ เกิดความสุขเกิดความสมานฉันท์ได้อีกครั้ง
การนำเสนอตัวอย่างการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วยตนเองที่วิทยาลัยชุมชนได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการจนสำเร็จครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ หากเทียบกับชุมชนที่มีอยู่ในประเทศ แต่ส่วนนี้ก็น่าจะสะท้อนให้ผู้คนในชาติได้หันกลับมาฉุกคิดได้บ้างว่า การที่มัวไปลุ่มหลงอยู่กับค่านิยมเห็นความร่ำรวยสำคัญที่สุดในชีวิต ทำให้เกิดการทิ้งครอบครัว ถิ่นฐานไปแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบทำมาหากินในเมืองใหญ่ท่ามกลางปัญหาพิษภัยรอบด้าน ทำให้ชีวิตตนเอง ครอบครัวและสังคมดีขึ้นหรือไม่ หากเทียบกับวิถีชีวิตที่มีสัมมาอาชีพ บนพื้นฐานความพอเพียงในท้องถิ่น ที่ได้อยู่กันพร้อมหน้าของคนในครอบครัวญาติมิตรนั้นอย่างไหนน่าจะมีคุณค่าและเกิดความสุขให้กับชีวิตที่แท้จริงกว่ากัน ค่านิยมที่ว่านี้คงไม่มีใครตัดสินใจแทนได้นอกจากคนในชาติเอง ส่วนภาครัฐ ถ้าหากไม่คิดจะทำอะไรเลยปล่อยให้ท้องถิ่นอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ จนค่านิยมคนในชาติผิดเพี้ยนไปถึงขนาดการคอร์รัปชั่นก็ยังเห็นดีเห็นงามไปด้วยขอเพียงให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วยเช่นนี้ จึงไม่อยากคาดเดาว่าวิถีชีวิตคนไทยและอนาคตประเทศชาติจะเป็นอย่างไร หากค่านิยมที่เห็นแก่ตัวยังเกาะติดแน่นอยู่ในจิตใจของคนในชาติอยู่เช่นนี้.
กลิ่น สระทองเนียม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น