ศาลพิพากษาจำคุก ปธ.วุฒิและอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 ปี ฐานขึ้นเงินเดือนตัวเอง ขณะที่ นายปราโมทย์ เจอคุก 1ปี 4เดือน ฐานช่วยสนับสนุน ศาลปราณี โทษจำให้รอลงอาญา 2 ปี ขณะที่ “พูลทรัพย์” เป็นลมกลางห้องพิจารณา
วันนี้ ( 25 ก.ค.) เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นเงินเดือนตัวเองในคดีหมายเลขดำ อ.4290/2552 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน, พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 86
คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า วันที่ 29 ก.ค.-30 ก.ย.47 นายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 และ พล.อ.ธีรเดช จำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับ นายปราโมทย์ จำเลยที่ 3 เลขาธิการผู้ตรวจแผ่นดินขณะนั้น ให้ความช่วยเหลือให้ความสะดวก จำเลยที่ 1 - 2 กระทำผิด ในการจัดทำร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการ และอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 โดยจำเลยที่ 3 นำร่างระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ และค่าตอบแทนบุคคลหรือคณะบุคคล พ.ศ.2547 ที่กำหนดค่าตอบแทนลักษณะเหมาจ่ายเดือนละ 20,000 บาทที่เป็นข้อกำหนดที่ออกโดยมิชอบมาอ้างอิงเป็นต้นแบบเพื่อออกร่างระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 30 ก.ค.47 จำเลยที่ 1-2 ให้ความเห็นชอบเพื่อออกระเบียบผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และมีการประกาศใช้ระเบียบฯ โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.47 และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำเดือน ก.ค.-ก.ย.47 ให้จำเลยที่ 1-3 เดือนละ 20,000 บาท รวม 3 เดือน 60,000 บาท ทั้งที่พวกจำเลยไม่มีอำนาจโดยชอบที่จะให้ความเห็นในการออกระเบียบจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นรายเดือนลักษณะเหมาจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษลักษณะควบกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งนั้น และจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 253 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ.2542 มาตรา 5 บัญญัติไว้เท่านั้น โดยต้องผ่านกระบวนการจากคณะรัฐมนตรีเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำผิดแล้ว ได้ส่งเงินคนละ 60,000 บาทคืนให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เงินค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1-2 ได้รับ แม้จะเรียกว่าค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่เหมาจ่ายรายเดือน แต่สาระสำคัญแห่งการได้เงินมามีลักษณะมั่นคงแน่นอนเป็นประจำทุกเดือน เนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่งานประจำตามปกติ เงินที่ว่านั้นจึงเป็นเงินเดือน อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนจะต้องผ่านที่ประชุมรัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมาย ดังนั้นจำเลยที่ 1-2 จะออกระเบียบขึ้นเงินเดือนเองมิได้ และจะอ้างว่าการออกระเบียบนี้เป็นการบริหารและจัดการเงินและทรัพย์สินของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นเดียวกับการออกระเบียบเรื่องเงินเบี้ยประชุมมิได้ เพราะสาระสำคัญและเงื่อนไขการได้เงินเบี้ยประชุมแตกต่างจากเงินที่เป็นปัญหานี้อย่างสิ้นเชิง
ส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าขาดเจตนากระทำผิดโดยเชื่อสุจริตใจ ว่า สามารถออกระเบียบได้ เพราะคัดลอกข้อความมาจากระเบียบศาลรัฐธรรมนูญนั้น จึงเห็นว่า จำเลยที่ 1-2 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมของบุคคลอื่น และจำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับความไว้วางใจในความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม ความดี และความสุจริต การขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองเป็นการกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนของจำเลยที่ 1-2 กับผลประโยชน์สาธารณะ จึงต้องมีมโนธรรมเข้ามากำกับอย่างยิ่งยวด จะใช้มาตรฐานความรู้สึกนึกคิดเช่นคนทั่วไปไม่ได้ การจะอ้างว่าเชื่อโดยสุจริตจะต้องมีเหตุผลอันสมควรอย่างยิ่งให้เชื่อเช่นนั้นได้
นอกจากนี้ ก่อนออกระเบียบเพิ่มเงินเดือนได้ความว่า คณะรัฐมนตรีมีมติปรับเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการทั่วประเทศอัตราร้อยละสาม แต่องค์กรอิสระต่าง ๆ รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนด้วย จึงจัดประชุมร่วมกันและร่วมทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึงรัฐบาลขอให้แก้กฎหมายปรับเพิ่มเงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการทั่ว ๆ ไป จึงชี้ให้เห็นว่าการปรับเพิ่มเงินเดือนแม้จำนวนเล็กน้อยเพียงร้อยละสาม จึงมีความสำคัญและต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด หน่วยงานผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนี้จะปฏิเสธว่าไม่รับทราบ ไม่เข้าใจ ไม่ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการขึ้นเงินเดือนไม่ได้ จึงไม่มีเหตุผลอันควรที่ทำให้จำเลยทั้งสามเห็นหลงไปได้ว่า การออกระเบียบเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเองถึง 20,000 บาท และมากกว่าการขึ้นเงินเดือนร้อยละสามนับสิบเท่า จะสามารถใช้ช่องทางลัดแปลความกฎหมายออกระเบียบเช่นนี้ได้ ข้ออ้างของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 1-2 จึงเป็นความผิด มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามฟ้อง
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1-2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 86 จำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 1 ปี 4 เดือน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเห็นว่ามีเหตุควรปราณี จึงให้รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มีกำหนด 2 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ฟังคำพิพากษา ช่วงที่ศาลกำลังอ่านคำวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด ปรากฏว่านายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 เกิดอาการหน้ามืดและเป็นลม โดยมีจำเลยที่ 2-3 เข้าไปช่วยประคองไว้ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลช่วยหายาดมมาให้ดมพร้อมปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้จำเลย รวมทั้งเรียกหาพยาบาลมาช่วยดูแล ขณะที่ศาลอ่านคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งผ่านไปประมาณ 15 นาที นายพูลทรัพย์ จำเลยที่ 1 มีอาการดีขึ้น และไม่ต้องเรียกหาพยาบาลมาช่วยปฐมพยาบาล ทั้งนี้ สาเหตุที่จำเลยเป็นลมอาจเพราะมีอายุมาก และนายพูลทรัพย์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาที่เดินทางมาให้กำลังใจและร่วมฟังคำพิพากษา กล่าวว่า หลังจากนี้จะคัดสำเนาคำพิพากษาไปศึกษาและพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ส่วนคำพิพากษาในวันนี้จะส่งผลต่อตำแหน่งประธานวุฒิหรือไม่นั้น จะนำไปเปรียบเทียบกับข้อกฎหมายก่อนและยังไม่สามารถให้คำตอบได้ในขณะนี้.