วันนี้ ( 17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางไปยลโฉมแมงกะพรุนน้ำจืดในลำน้ำเข็ก ที่ถือเป็นแหล่งกำเนิด และเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์อันซีนไทยแลนด์ เช่นเดียวกับทุกปีของช่วงเดือนมีนาคม ,เมษายน และพฤษภาคม ซึ่งแมงกะพรุนน้ำจืดจะมีเฉพาะในลำน้ำเข็ก เท่านั้น โดยเฉพาะที่บ้านแก่งกระจิบ หมู่ 12 ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กับในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง บ้านหนองแม่นา
สำหรับแมงกะพรุนน้ำจืดได้เริ่มค้นพบในจังหวัดพิษณุโลกเมื่อปี 2548 ที่บริเวณแก่งท่าเดื่อ บ้านเข็กพัฒนา ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ริมทางหลวงหมายเลข 12 พิษณุโลก-หล่มสัก กม.73-74 นั้น และบริเวณน้ำตกแก่งโสภา บริเวณ กม.ที่ 71-72 น้ำตกชั้นที่ 2 ที่เป็นแอ่งรับน้ำจากน้ำตกสูง 10 เมตร ที่พบว่าตามแอ่งน้ำนิ่งต่าง ๆ มีแมงกะพรุนน้ำจืดขนาดโตเต็มไวผุดว่ายขึ้นมาจำนวนมาก โดยหลังจากค้นพบที่บ้านเข็กพัฒนาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ชาวบ้านเข็กพัฒนา ได้เฝ้าติดตามการขึ้นผุดว่ายของแมงกะพรุนน้ำจืดมาอย่างต่อเนื่องมาทุกปี โดยจะเริ่มให้เห็นในช่วงเดือนมีนาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า “แมงอีหยิบ”ตามลักษณะพฤติกรรม”หยุบเข้า หยุบออก”ของมันขณะกำลังว่ายน้ำ
นายพรชัย ศรีศักดิ์ นักวิชาการของกรมอุทยานฯ ที่ติดตามการผุดขึ้นของแมงกะพรุนน้ำจืด เปิดเผยว่า ในพื้นที่ 7 แสนไร่ของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีลำน้ำเข็กเป็นแม่น้ำสายหลัก ไหลผ่านพื้นที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และ อ.นครไทย อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ช่วงปี 2548 เริ่มมีการค้นพบแมงกะพรุนน้ำจืดในพื้นที่ 2 จุดสำคัญ คือ ที่แก่งวังน้ำเย็น หรือ หนองแม่นา ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และพื้นที่แก่งท่าเดื่อ และน้ำตกแก่งโสภา บ้านเข็กพัฒนา ต.บ้านแยง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตามค้นหากลับพบว่าในปีนี้แมงกะพรุนน้ำจืด โผล่ช้ากว่าปกติ เนื่องจากพบเพียงแต่ไข่แมงกะพรุนน้ำจืด จำนวนมากที่กำลังรอฟักตัวอยู่ตามโขดหิน ซึ่งถือว่าปีนี้มีไข่จำนวนมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เชื่อว่าอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ น่าจะได้เห็นแมงกะพรุนน้ำจืดฟักเป็นตัวว่ายลอยอวดโฉมตามแหล่งน้ำเข็ก หากไม่มีฝนตกลงมา ส่วนชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุที่แมงกะพรุนน้ำจืดฟักตัวช้าน่าจะมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เพราะมีทั้งฝนและอากาศที่ร้อนจัด จึงทำให้ไข่มีการฟักตัวช้า เพราะโดยปกติในช่วงนี้อากาศที่นี่จะมีความร้อนสูง แต่ปีนี้กลับมีฝนสลับไปมา จึงทำให้การฟักตัวของแมงกะพรุนน้ำจืดนั้นล่าช้าลง.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น