เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณางบฯ มาตรา 17 ของกระทรวงมหาดไทย มีการอภิปรายเพียง 30 นาที ที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วยคะแนน 286 ต่อ 98 เสียง จากนั้นเวลา 21.00 น.ที่ประชุมพิจารณามาตรา 18 กระทรวงยุติธรรม โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายติติงการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้เกือบ 1,140 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาดีเอสไอกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำร้ายฝ่ายตรงข้าม เช่น การออกหนังสือเรียกผู้บริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมปี 2553 ให้สำนักนายกรัฐมนตรีผ่านพรรคประชาธิปัตย์มาสอบ ทั้งที่ยังไม่มีการรับเป็นคดีพิเศษ และคดีนี้ดีเอสไอก็ไม่มีอำนาจสอบสวน ไม่ทราบว่าเป็นการรับลูกทางการเมืองมาหรือไม่ และถือว่าไม่ตรงกับพันธกิจในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม นอกจากนี้รองอธิบดีดีเอสไอ บอกว่าจะเรียกทหารที่ใช้สไนเปอร์มาสอบ แต่ในคดีเกี่ยวกับชายชุดดำในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองกลับไม่มีความคืบหน้า ไม่ทราบว่ากรรมาธิการฯได้สอบถามเรื่องนี้หรือไม่
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สบายใจกับการทำงานดีเอสไอ เมื่อการเมืองเปลี่ยน การเมืองอีกฝ่ายก็ไม่พอใจเช่นกัน ซึ่งรู้สึกเห็นใจข้าราชการ แต่ในการพิจารณาคณะกรรมาธิการฯก็ได้ปรับลดงบประมาณของดีเอสไอไปแล้ว
จากนั้นนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนคำแปรญัตติ ลุกขึ้นอภิปรายโดยอ่านเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ต่อคณะกรรมาธิการฯ ที่ระบุว่า ดีเอสไอถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ทำให้บรรดาส.ส.พรรคเพื่อไทย พากันลุกขึ้นประท้วง อาทิ นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ที่ลุกขึ้นโดยนำเอกสารที่อ้างว่าเป็นเอกสารจากคณะกรรมาธิการฯ มาอ่านโดยระบุว่า นายธาริต ได้ชี้แจงว่า ดีเอสไอถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐบาลในคดีก่อการร้าย ซึ่งคนฟังจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นนายวัชระ เอาเอกสารมาอ่านไม่หมดถือว่าบิดเบือน และเอาเอกสารออกมาได้อย่างไร จึงอยากให้นายวัชระ ส่งมอบเอกสารให้ประธานและให้ประธานในที่ประชุมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
โดยระหว่างนั้นนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้พยายามไกล่เกลี่ย ขอให้นายวัชระ อภิปรายให้จบก่อน แล้วให้ส่งเอกสารมาให้ประธานในภายหลัง แต่ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ยอม พากันลุกขึ้นประท้วงหลายคน ขณะที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็ลุกขึ้นประท้วงเช่นกัน โดยเสนอให้ประธานตรวจสอบเอกสารของนายประชา ที่นำมาอ่านในที่ประชุมด้วย ซึ่งการประท้วงดังกล่าวเสียเวลาการประชุมไปถึง 25 นาที ในที่สุดนายเจริญ ได้วินิจฉัยให้นายวัชระ อภิปรายต่อ และเมื่ออภิปรายเสร็จแล้วขอให้ทั้งสองฝ่ายส่งเอกสารให้ประธานคณะกรรมาธิการฯไปพิจารณาว่าเอกสารของฝ่ายไหนเป็นของจริง.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น