วันนี้ ( 2 ส.ค.) นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการดำเนินการรื้อถอนรีสอร์ต บ้านพัก ตากอากาศ ที่บุกรุกอุทยานฯ ทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ว่า ขณะนี้ได้ให้กองนิติการ กรมอุทยานฯ รวบรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอน รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศ ที่เราได้ดำเนินการรื้อถอนครั้งล่าสุดทั้งหมด 9 ราย รวมทั้งทะเลหมอกรีสอร์ต โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนในแต่ละจุด จากนั้นจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ยังมีในเรื่องการค่าเสียหายทางแพ่งในเรื่องการก่อให้เกิดความเสียหายกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ซึ่งกองนิติการกำลังรวบรวมตัวเลขเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของรีสอร์ต และผู้บุกรุกพื้นที่เช่นกัน ทราบว่าที่ผ่านมาทางอุทยานฯ ทับลานได้แจ้งความดำเนินคดีกรณีการนำรถกอล์ฟและมวลชนออกมาขวาง การเผายางรถยนต์ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการรื้อถอนปากทางเข้ารีสอร์ตทะเลหมอก และกรณีการลอบปาระเบิด บริเวณพื้นที่เก็บเครื่องจักรกล หนัก ศูนย์วิศวกรรมที่ 5 อ.นาดีแล้ว จากนี้ก็เป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะสวบสวนต่อไป
นายดำรงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้รับเอกสารจากศาลปกครอง โดยศาลปกครองได้รับเรื่องร้องจากเจ้าของรีอร์ตบ้านทะเลหมอก เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายหลังการรื้อถอนแล้ว โดยศาลนัดไต่สวนกรณีดังกล่าวตามคำร้องของผู้ร้องในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ซึ่งได้ประสานให้นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน นำข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ เข้าชี้แจงต่อศาลปกครองแล้ว ซึ่งกรมอุทยานฯ ก็ไม่ได้หวั่นวิตกอะไรและให้ว่าไปตามคำสั่งของศาลปกครอง
นายดำรงค์ ยังกล่าวถึงกรณีนายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อทำลายทรัพย์สินนอกคำสั่งศาลและการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในยามวิกาล ว่า เรื่องนี้เป็นมุมมองของนายนริศ แต่เห็นว่านายนริศพูดไม่หมด และไปพูดถึงเฉพาะในเรื่องคำสั่งทางแพ่งเกี่ยวกับของกลางและทรัพย์สินต่างๆ การดำเนินการของอุทยานฯ ในเรื่องการเข้ารื้อถอนบ้านทะเลหมอกรีสอร์ต เป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจทางปกครอง ต่อเนื่องจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากพื้นที่ ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ. อุทยานฯ 2504 และกรมอุทยานฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบบัญชีรายการทรัพย์สินของรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ ในทุกกรณีที่ได้เข้าไปรื้อถอนมาโดยตลอดตั้งแต่แรก โดยคณะกรรมการนี้จะเข้าไปดูแลและจัดทำรายการทรัพย์สินในกรณีที่ไม่มีเจ้าของมาแสดงตน แต่กรณีบ้านทะเลหมอกมีตัวเจ้าของชัดเจน และยังมายืนดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก่อนหน้านี้ที่แจ้งเตือนให้รื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกไป เจ้าของรีสอร์ตก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม ส่วนกรณีที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปรื้อถอนในยามวิกาลได้นั้น ก็เป็นการเอากฎหมายทั่วไปมาพูด เรื่องนี้ยืนยันว่ากรมอุทยานฯ สามารถทำได้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นของอุทยานฯ ตามคำพิพากษาของศาลก็เหมือนไปดักจับขบวนการตัดไม้หรือล่าสัตว์ป่า ซึ่งสามารถเข้าไปปฏิบัติการได้ทุกเวลาอยู่แล้วเพราะเป็นเขตอุทยานฯ
ด้านนายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ทับลาน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น จากการดำเนินคดีในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน จำนวน 418 คดี มีเนื้อที่บุกรุกประมาณ 8,000 ไร่ หากนำมาเข้าแบบประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการ หลังการทำลายทรัพยากรป่าไม้นั้น ในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน จะคิดเนื้อที่ความเสียหายต่อไร่ตั้งแต่ 5 หมื่น-1 แสนบาท แล้วแต่สภาพพื้นที่ ดังนั้นตัวเลขความเสียหายที่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งด้านสิ่งแวดล้อมจากผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมดเบื้องต้น น่าจะอยู่ที่ 400-800 ล้านบาท
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น