วันนี้ ( 19 พ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง โดยนายสมิง พรทวีศักดิ์อุดม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้นประจำศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำ 1054/2552 พร้อมองค์คณะ มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 17/2552 ลงวันที่ 20 ม.ค.52 ที่แต่งตั้งนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และให้คืนสิทธิประโยชน์ที่นายพีรพล จะได้รับในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด
โดยคดีนี้ นายพีรพลได้ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 เรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดย ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.52 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามการเสนอของนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ให้นายพีรพล ผู้ฟ้องไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยให้ขาดจากอัตราเงินเดือนสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เป็นสังกัดเดิมและให้มีผลทันทีในวันดังกล่าว
ทั้งนี้ นายสุเทพ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 2 อ้างเหตุผลต่อสื่อมวลชนว่าเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงาน ความเหมาะสมและต้องการให้มีข้าราชการที่ทำงานแล้วรัฐบาลรู้สึกสบายใจว่า งานที่รัฐบาลสั่งการลงไป ข้าราชการสามารถรับไปปฏิบัติและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งที่ผู้ฟ้องปฏิบัติราชการตำแหน่ง ปลัดมหาดไทยได้เพียง 3 เดือนเศษ และรัฐบาลของผู้ถูกฟ้องเข้ามาบริหารได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งในวันที่ 20 ม.ค.52 วันเดียวกับที่เสนอย้ายผู้ฟ้องนั้น ครม.เห็นชอบตามที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสองและกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้งนายวิชัย ศรีขวัญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแทนผู้ฟ้อง ซึ่งการมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น กระทำโดยปราศจากหลักเกณฑ์และเหตุผลอันควร จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
เมื่อศาลพิเคราะห์คำฟ้อง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การปฏิบัติราชการของ ครม. และรัฐมนตรี ต้องเป็นไปตามกฎหมายตามหลักนิติธรรม ซึ่งการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 1 ให้ผู้ฟ้องไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผู้ฟ้องรับราชการในกระทรวงมหาดไทยมานาน เป็นผู้มีประสบการณ์ทำให้การบริหารราชการในฝ่ายปกครองประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนหลายเรื่องต้องดำเนินการนั้น
ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวยังขัดต่อพฤติการณ์และแนวปฏิบัติของผู้ถูกฟ้อง เพราะหากรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในส่วนเกี่ยวข้องกับฝายปกครอง ผู้ถูกฟ้องทั้งสองสามารถมอบหมายนโยบายให้ผู้ฟ้อง ที่ขณะนั้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยรับไปปฏิบัติได้ซึ่งผู้ฟ้องจะสามารถสั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้พร้อมปฏิบัติการตามนโยบายได้อย่างรวดเร็วตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมาย ยิ่งกว่าการไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่มีอัตราเพียง 9 คน ขณะที่ความเป็นจริงไม่ได้มีข้าราชการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเต็มกรอบอัตรากำลัง ซึ่งแม้การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีวันที่ 20 ม.ค.52 และ รมว.มหาดไทย มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการ ครม. เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในวันเดียวกัน จะไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่แสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่เร่งรีบ แฝงซึ่งวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เหตุผลแท้จริงที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสองอ้างเป็นเหตุผล
อีกทั้งปรากฏด้วยว่าขณะนั้นผู้ฟ้องมีอายุราชการในการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกถึง 2 ปี จะมีเวลาทำงานมากกว่านายวิชัย ศรีขวัญ ที่เมื่อดำรงตำแหน่งปลัดแล้วมีเวลาทำงานเพียง 6 เดือน ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง อ้างว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนการสั่งย้ายนั้น เห็นว่า ตั้งแต่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีคำสั่งย้ายผู้ฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.52 ก็ไม่ปรากฏว่าได้มอบหมายงานให้ปฏิบัติ กระทั่งวันที่ 24 เม.ย.52 ผู้ฟ้องมีหนังสือสอบถามไปยังสำนักงาน ก.พ.เพื่อรับคำบรรยายลักษณะงานในตำแหน่งที่ปรึกษานายก ฯ ซึ่ง ก.พ.ได้มีหนังสือวันที่ 14 พ.ค.52 แจ้งกลับมา จึงทำให้เห็นว่า ขณะที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 สั่งย้ายผู้ฟ้องนั้น ยังไม่มีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อให้ผู้ฟ้องรับไปปฏิบัติแต่อย่างใด
แม้ต่อมาวันที่ 29 เม.ย.52 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 จะแต่งตั้งผู้ฟ้อง เป็น ผอ.สำนักงานอำนวยการบูรณาการประสานความร่วมมือและติดตามเร่งรัดงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ( สอ.นร.) แต่ก็หลังจากสั่งย้ายนานถึง 3 เดือน อีกทั้งยังปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.52 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ( สปน.) อนุมัติเจ้าหน้าที่ 2 อัตราให้ช่วยราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อปฏิบัติงาน สอ.นร. ซึ่งเป็นเวลา 5 เดือนหลังจากที่ผู้ฟ้องไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นที่อ้างว่าการสั่งย้ายผู้ฟ้องมีความจำเป็นเร่งด่วน จึงไม่อาจรับฟังได้ แต่เป็นการออกคำสั่งย้ายเพียงให้ผู้ฟ้องพ้นจากตำแหน่ง เพื่อจะแต่งตั้งข้าราชการอื่นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยต่อไปเท่านั้น
ขณะที่เมื่อพิจารณาบทบาทหน้าที่ตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย จะเห็นได้ว่า มีความรับผิดชอบมากกว่าตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยนอกจากต้องกำกับดูแลและบริหารราชการในหน่วยงานแล้วยังสามารถให้คำปรึกษาเสนอความเห็นกับนายกรัฐมนตรีได้โดยไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายก ฯ แต่อย่างใด ดังนั้นที่ผู้ถูกฟ้องอ้างว่า ตำแหน่งที่ปรึกษานายก ฯ สูงกว่าปลัดกระทรวงมหาดไทยนั้นยังฟังไม่ได้การที่ผู้ฟ้องถูกสั่งย้าย จึงเป็นการลดบทบาทและความสำคัญในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญกำหนดไว้
จึงพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 17/2552 ลงวันที่ 20 ม.ค.52 และเพิกถอนการโอนนายพีรพล ที่แต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และให้คืนสิทธิประโยชน์ที่นายพีพล จะได้รับในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีแม้ศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งโยกย้ายดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันตามกฎมาย.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น