วันนี้ ( 23 ก.ย. ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ผลงานวิจัย 3 ชิ้น เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ ยืนยันว่าน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสผลไม้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วน
ผลงานทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ท ผ่านทางเว็บไซต์ของวารสารการแพทย์ นิว อิงแลนด์ ระบุว่า สถิติการบริโภคน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสผลไม้ในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจากเมื่อราว 30 ปีก่อนถึง 2 เท่า ส่งผลให้อัตราส่วนประชากรชาวอเมริกันที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ผลงานวิจัยชิ้นแรก ที่อ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันทั้งชายและหญิงกว่า 33,000 คน พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูงส่งผลกระทบต่อกลไกทางพันธุกรรม ทำให้เกิดความแปรปรวนและอาจนำไปสู่การเพิ่มของน้ำหนักตัว อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภค ความถี่ในการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง รวมถึงการออกกำลังกาย
ส่วนผลงานวิจัยอีก 2 ชิ้น อ้างอิงผลจากการทดลองให้เด็ก และผู้ใหญ่รับประทานเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล เช่น น้ำแร่บรรจุขวด หรือน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวานที่ใช้สารปรุงแต่งความหวานแทนน้ำตาลแท้ โดยตั้งสมมติฐานว่า สามารถทำให้น้ำหนักลดได้ โดยผลงานวิจัยชิ้นที่ 2 อาศัยกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกิน ของโรงพยาบาลเด็กเมืองบอสตัน 224 คน โดยให้บริโภคเครื่องดื่มที่โฆษณาว่า “ปราศจากน้ำตาล” หรือ “0 แคลอรี่” นาน 1 ปี พบว่า เด็กเหล่านี้มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.68 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับเด็กอีกกลุ่ม ที่ดื่มน้ำอัดลมปกติ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม
ขณะที่ผลงานวิจัยชิ้นที่ 3 จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมส์ ของเนเธอร์แลนด์ ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุระหว่าง 4-11 ปี 641 คน โดยกลุ่มหนึ่งให้ดื่มเครื่องดื่มรสผลไม้ และน้ำอัดลม ส่วนอีกกลุ่มบริโภคเครื่องดื่มลักษณะเดียวกัน แต่มีน้ำตาลน้อยกว่า เป็นเวลา 18 เดือน ปรากฏว่า เด็กที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.39 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กที่บริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลสูง ซึ่งมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.36 กิโลกรัม
พญ.ซอนญ่า คาปริโอ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ของสหรัฐ กล่าวว่า ผลงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้น แสดงให้เห็นว่า น้ำตาลมีผลต่อน้ำหนักตัว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะนำไปวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางควบคุม และปรับพฤติกรรมการบริโภค เพื่อลดภาวะน้ำหนักเกินตั้งแต่ในวัยเด็กต่อไป.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น