วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
กสทช.เชือดมือถืออาม่าใช้เอกสารปลอมสั่งโละทิ้ง
กสทช.เชือดมือถือรุ่นอาม่า-อาม่า พลัส–เจโฟน-โฟนวัน ถูกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมเหตุพบใช้เอกสารปลอมในบางรุ่นโละทิ้ง 9.7 แสนเครื่อง
วันนี้ (2 ก.ค.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ได้ออกคำสั่งบังคับทางปกครองโดยเพิกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ จำนวน 280 รุ่น จาก 27 บริษัท รวมกว่า 970,000 เครื่อง เนื่องจากใช้รายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการทดสอบของต่างประเทศที่ไม่ได้ออกโดยห้องปฏิบัติการทดสอบของต่างประเทศนั้นหรือมีการปลอมแปลง หรือแก้ไข เปลี่ยนแปลง ลดทอน แต่งเติมเนื้อหาหรือข้อมูลในรายงานผลการทดสอบให้ผิดแผกจากรายงานผลการทดสอบต้นฉบับ และภายใน 2-3 วันทางสำนักงานจะดำเนินการตามกฎหมายให้ดำเนินงานตามกฎหมายอาญา ทั้งนี้หากผู้ประกอบการทั้ง 27 รายไม่เห็นด้วยกับคำสั่งก็สามารถชิสิทธิอุทธรณ์ต่อกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ได้ภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งทางปกครอง
สำนักงาน กสทช.ได้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ปี 2552 และพบว่าโทรศัพท์มือถือที่นำเข้าใช้เอกสารปลอมตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยในวันที่ 20 มิ.ย.55 ที่ประชุมกสทช.มีมติให้เพิกถอนใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์รวม 280 รุ่น จาก 27 บริษัท และให้ผู้ประกอบการดำเนินการใน 2 ทางเลือก คือ 1.ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้นำออกเครื่องวิทยุคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และห้ามนำเครื่องโทรคมนาคมดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักร และทำลายเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศสำนักงาน กสทช. มีผลบังคับใช้ และ 2.ให้รายงานการครอบครองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์แบบ/รุ่นที่ถูกเพิกถอนเฉพาะแบบ/รุ่นที่ผู้ประกอบการทั้ง 27 รายเป็นผู้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายหรือใช้งาน แต่มิได้เป็นผู้ยื่นขอและได้รับใบรับรอง ต่อสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน
สำหรับประกาศเพิกถอนใบรับรองเรื่องเครื่องโทรคมนาคม ของกสทช. ยังอยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วทั้ง 27 บริษัทนำเข้ามือถือจะมีเวลาดำเนินงานตามข้อ 1 และ ข้อ 2 เป็นเวลา 30 วัน
ปัจจุบันมีปริมาณการนำเข้าโทรศัพท์มือถือเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 16 ล้านเครื่อง ส่วนโทรศัพท์มือถือที่พบว่ามีการใช้เอกสารปลอมมีทั้งหมด 280 รุ่น จาก 27 บริษัท ประกอบด้วย รุ่น “อาม่า” กับ “อาม่า พลัส” ของ บริษัท มีเดีย อินฟินิตี้ จำกัด และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อเอ็มทีเอ็ม (MTM) พบแปลงเอกสาร 45 รุ่น และของบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ในรุ่นเจโฟน 8 รุ่น ส่วนบริษัท ทีดับบลิวแซด จำกัด (มหาชน) หรือTWZ พบว่ารุ่น โฟนวันมี 29 รุ่นที่เป็นเอกสารปลอม
ด้าน น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการไม่มีหลักฐานว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้มีการพิสูจน์ เพียงแต่ผู้ขอใบอนุญาตในการนำเข้าใช้เอกสารปลอม โดยเครื่องมือถือที่ประชาชนซื้อไปแล้วถ้าใช้แล้วไม่เกิดปัญหาก็ใช้ต่อไป แต่หากพบว่าเกิดความเสียหายสามารถฟ้องตามพ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคต้องชี้แจงให้ได้ว่าเสียหายอย่างไร เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีใบรับรองคุณภาพปลอมแล้วทำให้คลื่นรบกวนอุปกรณ์ไฟฟ้าจนทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะคืนเครื่องมือถือได้หรือไม่ ในขณะที่ตกลงจะซื้อเครื่องมือถือจะถือว่าเป็นการสมยอมกันไปแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้เงินคืนหรือถ้าเกิดความเสียหายสามารถโทรร้องเรียนที่เลขหมาย 1200 ของกสทช.ได้.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น