ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ บางกะปิ
www.becomz.com

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"ในหลวง"เสด็จฯทางชลมารคทรงเปิด5โครงการชลประทาน





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคทรงประกอบพิธีเปิด5 โครงการชลประทานท่ามกลางพสกนิกรเฝ้ารับเสด็จฯ
เมื่อเวลา 16.26 น.วันนี้ ( 7 ก.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถเข็นพระที่นั่งลงจากที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิด 5 โครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในการนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผอ.โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นผู้ถวายการเข็นรถพระที่นั่ง  และ ศ.คลีนิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วยคณะแพทย์และพยาบาลตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ทหารเรือเครื่องแบบปกติขาวคอพับแขนสั้น เสด็จฯ ยังท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อประทับเรือพระที่นั่งอังสนา ซึ่งทางกองทัพเรือจัดถวาย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อยู่ในฉลองพระองค์ชุดสีน้ำเงินเข้ม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีพสกนิกรที่พร้อมใจกันสวมเสื้อสีชมพู และชูพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมโบกธงพระปรมาภิไธย และธงชาติไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ และเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องตลอดเส้นทางเสด็จฯ

จากนั้น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่มเริงรมย์ ผบ.ทร. กราบบังคมทูลรายงาน ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนเรือพระที่นั่งอังสนา  พล.ร.อ.เถกิงศักดิ์ วังแก้ว เสนาธิการทหารเรือ กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ออกเรือ และทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรเส้นทางการเดินเรือ ต่อจากนั้นเรือพระที่นั่งอังสนา ออกจากบริเวณท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ไปยังบริเวณเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยเรือพระที่นั่งจะผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ สะพานพระปิ่นเกล้า , สะพานพระราม 8 , สะพานกรุงธนบุรี  ,กรมชลประทาน ไปยังสะพานพระราม 7 ผ่านหน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ,สะพานพระราม 5 ,ท่าน้ำนนทบุรี , สะพานพระนั่งเกล้า  , วัดเชิงเลน วัดกลางเกร็ด , วัดฉิมพลี  แล้ววนซ้ายรอบเกาะเกร็ด ซึ่งมีเจดีย์กลางน้ำเป็นสัญลักษณ์  กลับมายังบริเวณหน้ากรมชลประทาน สามเสน

ต่อมาเวลา18.45 น.เรือพระที่นั่งอังสนาถึงบริเวณหน้ากรมชลประทาน สามเสน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลรายงาน และเบิกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอธิบดีกรมชลประทาน กราบบังคมทูลรายงาน

ถัดมาเวลา 19.05 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ประทับบนเรือพระที่นั่งอังสนา ทอดพระเนตรการแสดงสื่อผสม “น้ำสร้างชีวิต” โดยใช้เทคนิคแสงสีเสียงที่ทันสมัย ถ่ายทอดเรื่องราวในลักษณะไตรวิชั่นฉายไปบนจอวีดิทัศน์ขนาดใหญ่กว้าง 45 เมตร สูง 12 เมตร ที่ติดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อการแสดงเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลเบิกผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดประกอบด้วย จ.นครนายก นครศรีธรรมราช นครพนม พิษณุโลก และกาฬสินธุ์ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพ และกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีเปิด 5 โครงการชลประทาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์ จ.นครศรีธรรมราช ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม และอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ จ.กาฬสินธุ์

จากนั้นเวลา 19.50 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพระหัตถ์บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการ พร้อมทอดพระเนตรวีดิทัศน์บรรยากาศสดจาก 5 จังหวัด ที่ร่วมกันแปรอักษรเป็นคำว่า “ทรงพระเจริญ” เมื่อเสร็จพิธี เรือพระที่นั่งอังสนาแล่นออกจากบริเวณที่ท่าเทียบเรือหน้ากรมชลประทานสามเสน กลับไปยังท่าเทียบเรือสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ในเวลา 20.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ กลับยังที่ประทับชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

ส่วนบรรยากาศใน 5 จังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเต็มไปด้วยความคึกคักพสกนิกรต่างเดินทางมาร่วมพิธีเปิดโครงการชลประทานกันอย่างเนื่องแน่น สำหรับแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กรมชลประทานดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 2,500 โครงการ และในระหว่างพุทธศักราช 2539 ถึงปัจจุบัน กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้รับพระราชทานนาม จำนวน 5 โครงการ อันได้แก่ โครงการที่ 1 โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์  จ.กาฬสินธุ์ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และได้ก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำเมื่อพุทธศักราช 2548 แล้วเสร็จในพุทธศักราช 2550 สามารถผันน้ำมาช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน 12,000 ไร่

โครงการที่ 2 ประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม เป็นประตูระบายน้ำที่สำคัญที่สุดในประตูระบายน้ำทั้ง 7 แห่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างจากภาพร่างลายพระหัตถ์ ที่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้พระราชทานแก่ กรมชลประทาน โดยก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2550 แล้วเสร็จในพุทธศักราช 2552 สามารถสนับสนุนพื้นที่การเกษตรใน จ.สกลนครและ จ.นครพนม 165,000 ไร่ และช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูน้ำหลา

โครงการที่ 3 ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ จ.นครศรีธรรมราช  โครงการนี้เป็นหัวใจสำคัญของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ก่อสร้างแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2542 ทำหน้าที่แยกน้ำเค็มและน้ำจืดออกจากกัน สามารถเก็บกักน้ำจืดเพื่อให้ราษฎรสามารถทำการเกษตรในฤดูฝน 480,000 ไร่ และในฤดูแล้งสามารถทำนาปรังเพิ่มขึ้นจากเดิม 52,000 ไร่  เป็น 200,000 ไร่  รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงการที่ 4  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เป็นโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำที่ก่อสร้างขึ้นในแม่น้ำแควน้อย ดำเนินการเมื่อพุทธศักราช 2548 แล้วเสร็จในพุทธศักราช 2552 เก็บกักน้ำได้ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร  สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 155,100 ไร่ ได้อย่างสมบูรณ์ตลอดทั้งปี รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาบางส่วน

โครงการที่ 5 เขื่อนขุนด่านปราการชล  จ.นครนายก โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายก ก่อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2542 แล้วเสร็จในพุทธศักราช 2547 เก็บกักน้ำได้ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณตอนล่างของลุ่มน้ำนครนายกเพื่อใช้ทำการเกษตร 185,000 ไร่ ตลอดจนมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และเพื่อการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเขต จ.นครนายก.
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ซ่อมคอมพิวเตอร์นอกสถานที่ 082-663-3157

Popular Posts

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Blog Archive

Followers

Blog Archive